"TURN EXPERIENCE TO VICTORY"

เก็บภาษี E-Commerce

เก็บภาษี E-Commerce

ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com

ในยุคปัจจุบันสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้สร้างความสะดวกสบายให้กับเราอย่างมาก ไม่ว่าในเรื่องของการติดต่อสื่อสารหรือการค้นหาข้อมูลและในการทำธุรกรรมที่สามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และเริ่มเป็นที่แพร่หลายอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นการใช้แอพพลิเคชั่นของธนาคารต่างๆ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Commerce ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า อีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) “อีคอมเมิร์ซ” นี้ก็คือการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าและบริการหรือการโฆษณา การทำธุรกรรมทาง E-Commerce ทำให้ประหยัดต้นทุน เวลา และหากยิ่งแพร่หลายยิ่งทำให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าอย่างมาก เว็บไซด์ Lazada.com ก็เป็นตัวอย่างของ อีคอมเมิร์ซ อย่างหนึ่ง และเป็นที่รู้จักอย่างมาก โดยเป็นเว็บไซต์เพื่อซื้อขายและการโฆษณาผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อีคอมเมิร์ซ นี้มีสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. เป็นผู้ที่เข้ามาควบคุมดูแล เพื่อพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนการทำธุรกรรมผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย


ล่าสุดนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีนโยบายในการเก็บภาษีจากการทำธุรกรรมผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ นี้ โดยได้มอบนโยบายให้กระทรวงการคลังนั้น ทำการอุดช่องโหว่ในการเก็บภาษี อีคอมเมิร์ซ เพราะผู้ประกอบการแบบอีคอมเมิร์ซนั้นมักจะหลบเลี่ยงภาษีด้วยวิธีการต่างๆ ทำให้รัฐขาดรายได้จำนวนมาก ซึ่งหากสามารถที่จะเก็บภาษีจาก อีคอมเมิร์ซ ได้อย่างครบถ้วน ย่อมเป็นการสร้างรายได้ให้ภาครัฐอย่างมาก นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลังได้จัดประชุมร่วมกับกรมสรรพากรและกรมศุลกากรเพื่อหารือในเรื่องดังกล่าว และมีการตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากกรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร โดยให้ประสานงานกันเพื่อจัดการแก้ไขในเรื่องการเก็บภาษีจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ซึ่งแต่ก่อนนั้นแนวทางในการอุดช่องว่างของการเก็บภาษีจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็จะใช้วิธีการประเมินรายได้ของผู้ประกอบการ แต่ก็ยังมีการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีอยู่ตลอด จึงทำให้ต้องกำหนดแนวทางใหม่โดยการตรวจสอบในเชิงลึก เช่นตรวจสอบการนำเข้านำออกของสินค้า เพื่อที่จะได้มาซึ่งรายได้ที่แท้จริงของผู้ประกอบการ และเพื่อให้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ดีประเด็นดังกล่าวนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะในปัจจุบันนั้นประเทศไทยกำลังพยายามผลักดันและพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งเศรษฐกิจดิจิตอลนี้ก็คือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยการนำเอาเทคโนโลยีได้แก่พวกสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ นั้นมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าในทางการค้าขาย และอีคอมเมิร์ซก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการพัฒนาในรูปแบบของเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งหากเราสังเกตพฤติกรรมการใช้อีคอมเมิร์ซของคนไทยนั้น การซื้อขายออนไลน์ได้รับความสนใจอย่างมาก เนื่องจากการซื้อขายออนไลน์นั้น มีความสะดวกสบาย ประหยัดเวลา ไม่ต้องเดินทางแต่คอยรับสินค้ามาส่งถึงที่ แต่เรื่องการชำระเงินนั้น จะพบว่าผู้ซื้อสินค้าและบริการจะหลีกเลี่ยงการชำระเงินออนไลน์ และเลือกใช้วิธีการอื่น เช่นการชำระเงินผ่านเค้าท์เตอร์ธนาคารหรือร้านสะดวกซื้อ ตู้เอทีเอ็ม หรือบัตรเครดิต เพราะไม่มั่นใจในการชำระเงินผ่านทางระบบออนไลน์ ซึ่งตรงนี้จะเห็นว่ายังเป็นปัญหาอยู่ในการที่จะพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล อาชญากรรมผ่านทางออนไลน์ก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่ง เช่นการหลอกลวงขายสินค้าทางออนไลน์ เพราะทำให้ผู้ใช้บริการต้องสูญเสียความมั่นใจในการทำธุรกรรมหรือซื้อขายออนไลน์ ซึ่งหากมองให้ดีแล้วนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลของไทยยังทำได้ไม่เต็มที่ ด้วยหลายๆปัจจัย และแน่นอนว่าอีคอมเมิร์ซก็เป็นความหวังหนึ่งของประเทศไทยในการที่จะเกิดพัฒนาของเศรษฐกิจดิจิตอล แต่ในช่วงนี้อีคอมเมิร์ซในประเทศไทยนั้นก็ยังอยู่ในช่วงกำลังเติบโตเท่านั้น ยังคงต้องได้รับการพัฒนาและการยอมรับของผู้บริโภคอีกมาก ตรงกันข้ามกับในประเทศสหรัฐอเมริกาที่อีคอมเมิร์ซได้รับความนิยมและแพร่หลายอย่างมากและมีความน่าเชื่อ การซื้อขายออนไลน์เป็นเรื่องปกติอย่างมากของคนที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ร้านค้าต่างๆที่มีชื่อในประเทศสหรัฐอเมริกา ล้วนแต่มีบริการเว็บไซต์เพื่อการซื้อขายออนไลน์ทั้งสิ้น
เนื่องจากอีคอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิตอลของไทยยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้นจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าการเก็บภาษีพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซให้มากขึ้นในช่วงนี้ จะเป็นการขัดแย้งกับการพัฒนาของเศรษฐกิจดิจิตอลของไทยหรือไม่ และจะมีผลกระทบต่อการประกอบการของผู้ประกอบการแบบอีคอมเมิร์ซหรือไม่อย่างไร ต่อไปประเทศไทยจะมีอีคอมเมิร์ซซึ่งเป็นที่นิยมและแพร่หลายเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้วหรือไม่?

Source : http://telecomjournalthailand.com/

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *