ณกฤช เศวตนันทน์ นบ. (เกียรตินิยม) นบท. นม.
Nakrit Sawettanan ACIArb
ที่ปรึกษา www.lawyer-thailand.com
ในปัจจุบันโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้กลายเป็นปัจจัยที่ห้าในการดำรงชีวิตของคนไทยไปเสียแล้ว เพราะไม่ว่าจะมองทางไหนเราก็จะเห็นผู้คนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่กันอย่างตลอดเวลาและไม่จำกัดแต่เพียงการใช้โทรออกหรือรับสายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการค้นหาข้อมูลต่างๆ รวมตลอดจนการติดตามความเคลื่อนไหวของเพื่อนๆ หรือสถานการณ์รอบตัวผ่านโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ
สิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้บริโภคนอกจากการ มีสัญญาณที่ดีและคลอบคลุมพื้นที่มากที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้งานแล้ว ค่าบริการ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคให้ความใส่ใจด้วยเช่นกัน ซึ่งวิธีการคิดคำนวณ ค่าบริการ นั้นในทางสากลใช้สองวิธีหลักๆ วิธีแรกคือวิธีการคำนวณอัตราขั้นสูงของค่าบริการโดยใช้เกณฑ์อัตราค่าตอบแทนการลงทุนหรือ Rate of Return (ROR) ที่หน่วยงานกำกับดูแลของไทยอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลของหลายๆ ประเทศใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
วิธี Rate of Return นี้จะพิจารณาจากผลตอบแทนที่กลับไปยังผู้ให้บริการ เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดคิด ค่าบริการ จากต้นทุนบวกด้วยอัตราผลตอบแทนการลงทุนที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เช่น ร้อยละ 5 เป็นต้น โดยหน่วยงานกำกับดูแลจะสามารถสั่งให้ผู้ประกอบการลด ค่าบริการ ลงได้หากพบว่ามีผลกำไรมากเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยวิธีนี้อาจจะมีข้อเสียอยู่ที่ไม่สามารถอาจจูงใจให้บรรดาผู้ประกอบการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่พัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพราะผู้ประกอบการเหล่านั้นอาจมีความคิดว่าอย่างไรเสียก็ไม่อาจทำกำไรได้เกินกว่าจำนวนอัตราส่วนที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด
ในบางประเทศมีการกำหนดอัตราผลตอบแทนที่ต่ำเกินไปก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะจำกัดการลงทุน จนทำให้บริการไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ในขณะเดียวกันการกำหนดอัตราผลตอบแทนที่สูงเกินไป ก็จะไม่สามารถสร้างแรงกดดันให้ผู้ประกอบการปรับลดให้ต้นทุนมีประสิทธิภาพได้
วิธีที่สองคือการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโดยการกำหนดเพดานอัตราค่าบริการ หรือ Price Cap ซึ่งเป็นวิธีที่บางประเทศเริ่มนำมาใช้ในการกำกับดูแลค่าบริการแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลจะกำหนดเพดานอัตราค่าบริการของบริการในแต่ละประเภท โดยเพดานจะถูกปรับเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอตามปัจจัยที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าเพื่อให้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจและจูงใจให้ผู้ประกอบการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
สำหรับการกำกับดูแลค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ของไทยนั้น ร.ท.เจษฎา ศิวรักษ์ เลขานุการประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ได้เปิดเผยถึงแผนงานของ กทค. ในปีนี้ว่าจะศึกษาการเปลี่ยนโครงสร้างการกำกับดูแล ค่าบริการ โทรคมนาคมใหม่ด้วยการทำแผนราคาเพดานขั้นสูงไว้ล่วงหน้า 5 ปี โดยเป็นราคาที่ทั้งฝ่ายผู้บริโภคและผู้ให้บริการยอมรับ ส่วนกำไรของบรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น กสทช. จะไม่เข้าไปกำหนด
การกำหนดราคาแบบ Price Cap นี้นอกจากจะมีข้อดีอยู่ที่เพดานราคาสามารถปรับเปลี่ยนได้เสมอตามปัจจัยที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลยังไม่ต้องไปไล่ตามขอทราบราคาต้นทุนจากบรรดาผู้ประกอบการเพื่อนำมาวิเคราะห์ตลอดเวลาว่าขณะนี้ผู้ประกอบการมีกำไรเกินไปหรือไม่
สำหรับการกำหนด Price Cap ในไทยนั้น ร.ท.เจษฎา ศิวรักษ์ กล่าวว่าจำต้องมีการทำแผน มีการประเมินราคาโดยใช้ข้อมูลเดิมของบรรดาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมกับการวิเคราะห์และการประมาณการราคาในตลาดเพื่อให้ได้เพดานค่าบริการขั้นสูงที่ห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการเรียกเก็บจากผู้บริโภคเกินกว่าที่กำหนด แต่อย่างไรก็ดีในเรื่องดังกล่าวนี้ยังต้องศึกษาในอีกหลายประเด็น อาทิ จะสามารถนำวิธี Price Cap นี้ไปบังคับใช้กับผู้ประกอบการทุกรายในตลาดได้หรือไม่ หรือจำกัดเฉพาะรายใหญ่ เหล่านี้เป็นต้น
ที่ผ่านมาอัตราค่าบริการขั้นสูงสำหรับบริการโทรคมนาคมประเภทเสียง (Voice) ที่ กสทช. กำหนดห้ามผู้ประกอบการเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการเกินกว่า 99 สตางค์ต่อนาทีตามประกาศของ กสทช. เรื่องอัตราขั้นสูงของ ค่าบริการ โทรคมนาคมสําหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศนั้นนับว่าเป็นที่พอใจของผู้บริโภคพอสมควร ซึ่งจากงานศึกษาพบว่า ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประเภทเสียงโดยเฉลี่ยจะต่ำกว่าราคาขั้นสูงที่ กสทช. กำหนด ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและสะท้อนให้เห็นว่าตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศมีการแข่งขันทางด้านราคาที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง และยังส่งผลให้ในปัจจุบันราคาค่าบริการโดยเฉลี่ยของไทยไม่สูงนักกับทั้งยังต่ำกว่าราคาค่าบริการในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร อิตาลี และญี่ปุ่นอีกด้วย
การกำกับดูแลราคาที่ดีควรมีความยืดหยุ่น เป็นธรรมต่อทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างตลาดและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่ปัจจุบันก็จะยิ่งพัฒนาก้าวไกลไปมากขึ้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนต่างๆ ลดต่ำลง ผู้บริโภคเข้าถึงและใช้งานได้มากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของการแข่งขันโดยเสรี ซึ่งสุดท้ายแล้วการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของไทยในอนาคตก็จะยิ่งเติบโตมากขึ้นตามไปด้วย
Source : http://telecomjournalthailand.com/